เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีในครั้งนี้ เป็นการติดตามผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามเกณฑ์ PA หลังจากที่ ก.ค.ศ. ประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 นั้น ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้มีการนำหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวไปปฏิบัติ และได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานไปอย่างไรบ้าง พบปัญหาหรืออุปสรรคหรือไม่ และนอกจากการรับฟังปัญหา อุปสรรค และการขับเคลื่อนการขับเคลื่อนการดำเนินงานแล้ว ต้องการสร้างความเข้าใจและคลี่คลายในประเด็นที่ยังสงสัย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในทิศทางที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ได้เลือกลงพื้นที่ ณ โรงเรียนวัดสามัคคีธรรม อำเภอเมืองฯ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุพรรณบุรี เขต 1 โดยมีข้าราชการครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้อำนวยการ สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 ได้เข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นข้อสงสัยในการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งพบว่าข้าราชการในเขตพื้นที่ดังกล่าวได้มีการศึกษาและทำความเข้าใจในเกณฑ์ PA จากการชี้แจงของสำนักงาน ก.ค.ศ. ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ รวมถึงได้ศึกษาคู่มือทำให้ปฏิบัติและขับเคลื่อนได้อย่างถูกต้อง
ที่สำคัญต้องขอชื่นชม สพป.สุพรรณบุรีเขต 1 ที่ได้ให้ความสำคัญ และชี้นำข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ดำเนินการไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด
นอกจากการลงพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงาน ก.ค.ศ. ยังได้วางแผนในการลงพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย เพื่อติดตามการนำเกณฑ์ PA ไปสู่การปฏิบัติและการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเกณฑ์ PA เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าว
ความคิดเห็นของครูและผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่ได้เข้าร่วมพูดคุยถึงการดำเนินการตามเกณฑ์ PA
- น.ส.รุจิกาญจน์ ธนาเศรษฐ์สุนทร ครูโรงเรียนสุพรรณภูมิ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนกำลังจะก้าวสู่การมีวิทยฐานะ ตอนแรกมองว่า PA เป็นเรื่องยุ่งยาก เพิ่มภาระให้ครู แต่วันนี้ได้มีโอกาสฟังการชี้แจงโดยตรง ก็เข้าใจเกณฑ์ใหม่มากขึ้น และพอได้ศึกษาลึก ๆ แล้ว เห็นว่าเราสามารถเริ่มต้นและลงมือทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ได้ โดยถือว่าลดภาระจากการประเมินแบบเก่า และไม่ต้องตั้งโต๊ะการประเมิน แต่เน้นการพัฒนาการสอนในห้องเรียนให้ดีที่สุด
- นายประสาน พุ่มเข็ม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดม่วงเจริญผล กล่าวว่า จากมุมมองของผู้บริหารสถานศึกษา เห็นว่าที่ผ่านมาครูที่ได้รับวิทยฐานะแล้ว จะขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาการจัดการศึกษา แต่เกณฑ์ PA นั้น เข้ามากระตุ้นให้ครูเกิดการพัฒนาตนเอง เติมเต็มความสามารถ และได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง จากการตั้งประเด็นท้าทาย ซึ่งท้ายที่สุดผลลัพธ์ก็จะเกิดขึ้นกับเด็กและห้องเรียนโดยตรง
ภาพ/ข่าว สำนักงาน ก.ค.ศ.
![]() |
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. |
ที่มา: ศธ.360 องศา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น